ร้อยหนัง: The Denouement

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อปี 2016 นู้น เราตั้งปณิธานไว้ว่าจะดูหนังให้ได้ซักร้อยเรื่อง

แล้วนึกยังไงไม่รู้ อยู่ดี ๆ ก็อยากเขียนถึงหนังเหล่านั้น กึ่งเป็นบันทึกช่วยจำว่าเคยดูหนังเรื่องไหนไปบ้าง กึ่งแชร์ความคิดเห็นของเราให้โลกได้รับรู้ จึงเป็นที่มาของโปรเจคร้อยหนัง

สรุปคือ ดีใจที่ดู และดีใจที่เขียน

เราได้อะไรจากร้อยหนังเยอะกว่าที่คิดไว้ เดี๋ยวจะเล่าให้ไม่อ่าน

อย่างแรก เรารู้สึกว่าคลังความรู้เกี่ยวกับหนังมันเต็มขึ้นมาก แต่ก่อนนี่ใครพูดถึงหนังเราจะงง ๆ ไม่เก็ต ไม่เก็ตว่า reference นี้มาจากไหน อยู่ ๆ มีคนพูดว่า “…and don’t call me Shirley” เราก็จะไม่เก็ต แต่ตอนนี้ก็รู้ว่ามาจากหนังเรื่อง Airplane! อะไรงี้ มันจิ๊บจ๊อยนะ แต่ถ้าพูดให้ยิ่งใหญ่เกินจริงก็คือ เราเข้าใจวัฒนธรรมสมัยใหม่มากขึ้น

นอกจากหนังในป๊อบคัลเจอร์แล้ว หนังคลาสสิกที่เป็นศิลปะก็ดูไปหลายเรื่อง (จริง ๆ หนังคลาสสิกหลาย ๆ เรื่องก็เป็นส่วนหนึ่งของป๊อบคัลเจอร์ อย่าง Citizen Kane หรือ Dr. Strangelove ก็ได้ยินคนพูดถึงบ่อย) คือต้องบอกว่าปีนี้เป็นปีที่เราศึกษาเรื่องศิลปะภาพยนต์บ้างในเวลาว่าง เราอ่านหนังสือชื่อ Story โดย Robert McKee (เล่มนี้ถือเป็นคัมภีร์ของนักเขียนบทฮอลลีวูดเลย) ที่พูดถึงการเล่าเรื่อง การจัดโครงสร้าง และอีกเล่มนึงชื่อ Better Living Through Criticism เขียนโดยนักวิจารณ์ A. O. Scott แห่งหนังสือพิมพ์ The New York Times เล่มนี้อ่านไม่จบ แต่เท่าที่อ่านก็มีการพูดถึงความสำคัญของการวิจารณ์และนักวิจารณ์ แล้วก็เลยไปตั้งคำถามว่า บทวิจารณ์เป็นศิลปะโดยตัวของมันเองหรือไม่

แล้วก็อ่านบทวิจารณ์เยอะมาก หนังส่วนใหญ่ หลังจากดูและเขียนถึงแล้ว เราก็ไปหารีวิว หาบทวิจารณ์มาอ่าน ก็ได้ความรู้เรื่องการเล่าเรื่องดีเหมือนกัน ได้รู้ว่าสตอรี่ที่ดีเป็นยังไง ตัวละคร พัฒนาการของตัวละคร จังหวะการเดินเรื่อง

ทั้งหมดนี้มันทำให้เราดูหนังสนุกขึ้น เพราะมันเข้าใจไง มันแยกแยะได้ว่าหนังเรื่องนี้ดี เรื่องนี้เลว เรื่องนี้เฉย ๆ

พูดง่าย ๆ ว่าดูหนัง “เป็น” ขึ้น

ในเชิงเทคนิกเราก็ได้รู้มากขึ้นเหมือนกัน ทั้งมุมกล้อง เฟรมมิ่ง ช็อตประเภทต่าง ๆ พวกนี้ในยูทูปมีคนเก่ง ๆ มาอธิบายไว้เยอะ (แนะนำ Every Frame a Painting โดยเฉพาะวิดีโอที่พูดถึงเฉินหลง) ไปจนถึงการตัดต่อ วิธีใช้สีในการเล่าเรื่อง (อย่างในวิดีโอนี้ — แชนแนลนี้ก็เนื้อหาดีมากเหมือนกัน)

เนี่ย พอดูหนังเป็นแล้วมันสนุก มันได้คอยมองว่าฉากนี้มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ลึกไปกว่าเรื่องที่ถูกเล่าผ่านบทพูด

ต่อมาคือได้เปิดโลก ได้ดูหนังแนวที่ไม่คิดว่าจะดู อย่างหนังเก่า ๆ ขาวดำเงี้ย หรือหนังอินดี้ ๆ อย่าง The Art of Getting By ที่ดูจบแล้วก็ช้อบชอบ หนังต่างประเทศอย่าง Amélie หรือ Cinema Paradiso ถ้าไม่มีร้อยหนังคงไม่ได้ดู เสียดายแย่

สุดท้ายคือได้เขียน ได้ฝึกเขียนอธิบายความคิดออกมาเป็นประโยค เราคิดว่าเราเขียนได้ดีขึ้นนะ ไม่รู้จริงรึเปล่า อย่างน้อยก็ใช้เวลาเรียบเรียงความคิดน้อยลง ผลคือเขียนอธิบายอะไรได้มากขึ้น อย่างเอาที่เราเขียนเดือนมกรามาเทียบกับธันวาเนี่ย ความยาวผิดกันเลย ส่วนนึงเพราะ — อย่างที่บอก — ดูหนังเป็นขึ้น อีกส่วนนึงเพราะเขียนง่ายขึ้นนี่แหละ

รู้สึกว่าตัวเองพิมพ์เร็วขึ้นด้วย อันนี้โบนัส

จริง ๆ แล้วในลิสต์เรายังมีหนังที่อยากดูอีกหลายเรื่องมาก (ที่บิ๊ก ๆ เลยก็มี Requiem for a Dream กับ 2001: A Space Odyssey ที่ยังไม่ได้ดู) ปีนี้ (2017) คงดูไม่ถึงร้อยเรื่อง แต่ถ้าดูแล้วมีอะไรจะเขียนก็จะมาเขียนไว้ที่นี่แหละ ไม่ตะบี้ตะบันดูแล้ว เมื่อยลูกกะตา

แต่ก็นั่นแหละ ดีที่ได้ดู ดีที่ได้เขียน เย้