ขอออกตัวก่อนว่าเราเป็นคนคิดมากเป็นวิสัย เพราะฉะนั้นแก่นของโพสนี้อาจจะไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าความขี้กังวลของเราเอง

เรื่องของเรื่องคือ เดี๋ยวนี้เราไม่ชอบมีข้ออ้าง

ที่บอกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะเมื่อก่อน (ตอนเด็ก ๆ น่ะ) เวลาเราทำอะไรผิดเราจะชอบแก้ตัว จากมุมมองของเราคือการให้เหตุผล เช่น ตอนอยู่โรงเรียนประจำ กินข้าวไม่หมด ครูก็ถามว่าทำไมไม่กินให้หมด เราก็ตอบว่าเราปวดท้อง ซึ่งตอนนั้นเราปวดท้องจริง ๆ

แต่ในมุมมองของครูคือข้ออ้างไง ครูเลยดุเราว่า อย่ามาโกหก ถึงไม่ชอบกินก็ต้องกินให้หมด แล้วก็บังคับเราให้กินจนหมด

หรือตอนนั้นเล่นกับเพื่อนอยู่แล้วเพื่อนโดนของเล่นของเราฟาดหน้า เราเลยโดนว่า เราตอบไปว่าของเล่นมันหลุดมือ ซึ่งก็โดนตราว่าเป็นข้ออ้างอีกเช่นเคย

เราเลยโดนมองว่าเป็นเด็กขี้โกหกปลิ้นปล้อน สารพัดจะอ้าง

มันก็น่าเก็บกดอยู่นะ อิ

จนพอมานั่งคิดดู ถึงเราจะมีเหตุผลแค่ไหน พยายามจะอธิบายยังไงก็ไม่มีใครเชื่ออยู่ดี คืออ้างไปก็ไลฟ์บอย (เฮ้ย พูดถึงอดีต แต่ไม่ได้อดีตขนาดนั้น!)

มาวันหนึ่งก็เลยเลิก “อ้าง” แล้วก็ติดเป็นนิสัยจนถึงทุกวันนี้

“ขอโทษนะที่ไม่ได้ไปประชุมเมื่อววาน”

“ส่งงานไม่ทัน ขออภัยครับ”

ไม่มีเหตุผล ไม่มีข้ออ้างอะไรทั้งสิ้น มีแค่ว่า เราทำผิดอะไร ต่อท้ายด้วยคำขอโทษ จะคิดว่าเราขี้เกียจก็ตามสบาย

มันก็ดูเป็นผู้ใหญ่ดีนะ ดูจริงใจ ขอแค่ครั้งหน้าอย่าพลาดอีก ถ้าครั้งต่อ ๆ ไปเราทำได้เขาก็จะรู้เองว่าไอ้ครั้งนั้นน่ะ เรามีเหตุจำเป็นจริง ๆ

คราวนี้ปัญหาคือ บางทีเราไม่มี “ครั้งหน้า” ไง เขาคิดว่าเราขี้เกียจ (ซึ่งอาจจะจริงหรืออาจจะไม่จริง) ก็กลายเป็นว่าเราขี้เกียจในสายตาเขาตลอดกาล

มีคนไม่ชอบเราเพราะเราเบี้ยวนัดเขาสามครั้งติด แล้วไม่ได้บอกว่ามันมีเหตุสุดวิสัยทุกครั้ง (อันนี้ยอมรับว่าเราผิดด้วยแหละ แต่มันสุดวิสัยน่ะ)

สุดท้ายทางสายกลางก็คงดีที่สุด ไม่อ้างเกินไป ไม่เงียบเกินไป

ส่วนเมื่อไหร่จะอ้าง เมื่อไหร่จะไม่อ้าง ก็คงต้องเรียนรู้กันต่อไป